ทำสื่อ Multimedia Content แบบไหน? ให้ E-Learning ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น!

การทำ E-Learning ให้ดีและน่าสนใจ ไม่ใช่แค่การทำซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่เราควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลักของอีเลิร์นนิ่งอย่าง “เนื้อหา” หรือ “Content” ด้วย เนื่องจากผู้เรียนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาเนื้อหาด้วยตนเอง แล้วทำการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสารสนเทศที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้เกิดเป็นความรู้ ดังนั้น เนื้อหาของการเรียนที่ถูกนำเสนอในรูปแบบน่าสนใจและหลากหลายอย่างสื่อ Multimedia จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้ ว่าแต่…แล้วเราจะต้องทำสื่อ Multimedia Content แบบไหน จึงจะช่วยดึงความสนใจพร้อมทั้งส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ถ้าอ่านบทความนี้จบคุณจะได้คำตอบแน่นอนค่ะ

 

6 องค์ประกอบของ Multimedia

ก่อนที่เราจะไปดูว่าสื่อการเรียนในลักษณะ Multimedia Content ของ e-learning ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับองค์ประกอบของมัลติมีเดียกันก่อนค่ะ ซึ่งประกอบไปด้วยสื่อการรับรู้รูปแบบต่าง ๆ 6 อย่าง ดังนี้

 

1. ข้อความ (Text)

ข้อความ เป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาของมัลติมีเดีย ใช้แสดงรายละเอียดหรือเนื้อหาของเรื่องที่นำเสนอ ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถแบ่งประเภทของข้อความได้หลายรูปแบบเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อความที่ได้จากการพิมพ์ เป็นข้อความปกติที่พบได้ทั่วไป ซึ่งได้มาจากการพิมพ์ด้วยโปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processor) เช่นNote Pad, Text Editor, Microsoft Word เป็นต้น
  • ข้อความจากการสแกนด้วยสแกนเนอร์ เป็นข้อความในลักษณะภาพ หรือImage ได้จากการนำเอกสารที่พิมพ์ไว้แล้วหรือเอกสารต้นฉบับมาทำการสแกนด้วยเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner) ซึ่งจะได้ผลออกมาเป็น 1 ภาพ ซึ่งในปัจจุบันสามารถแปลงข้อความภาพที่สแกนได้เป็นข้อความปกติ
  • ข้อความไฮเปอร์เท็กซ์ (Hyper Text) เป็นรูปแบบของข้อความที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเผยแพร่เอกสารในรูปของเอกสารเว็บไซต์ เนื่องจากสามารถใช้เทคนิคการลิงค์ หรือเชื่อมโยงข้อความไปยังข้อความหรือจุดอื่นๆ

 

2. ภาพนิ่ง (Still Image)

ภาพนิ่ง (Still Image) หรือ ภาพกราฟิก เป็นภาพที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด และภาพลายเส้น เป็นต้น ซึ่งนับว่ามีบทบาทต่องานมัลติมีเดียและเป็นสื่อในการนำเสนอที่ดี เนื่องจากมีรูปแบบที่น่าสนใจ สามารถสื่อความหมายได้กว้างกว่าข้อความหรือตัวอักษร เพราะภาพจะให้ผลในเชิงการเรียนรู้หรือรับรู้ด้วยการมองเห็นได้ดีกว่า

3. เสียง (Sound)

เสียง ในมัลติมีเดียจะจัดเก็บอยู่ในรูปของข้อมูลดิจิตอลและสามารถเล่นซ้ำ (Replay) ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งการใช้เสียงในมัลติมีเดียก็เพื่อนำเสนอข้อมูลหรือสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าสนใจยิ่งขึ้นและสามารถใช้เสริมตัวอักษรหรือนำเสนอวัสดุที่ปรากฏบนจอภาพได้เป็นอย่างดี จึงมีอิทธิพลต่อผู้ใช้มากกว่าข้อความหรือภาพนิ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดบรรยากาศที่น่าสนใจในการรับรู้ทางหู โดยอาศัยการนำเสนอในรูปของ เสียงประกอบ เพลงบรรเลง เสียงพูด เสียงบรรยาย หรือเสียงพากย์ เป็นต้น

4. ภาพเคลื่อนไหว (Animation)

หมายถึง ภาพกราฟิกที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงขั้นตอนหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการให้เกิดแรงจูงใจจากผู้ชม  ทั้งนี้ การผลิตภาพเคลื่อนไหวจะต้องใช้โปรแกรมที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางซึ่งจะมีขนาดของไฟล์ที่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่าภาพนิ่งหลายเท่า

5. วีดิทัศน์ (Video)

วิดีโอ เป็นองค์ประกอบของมัลติมีเดียที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิดีโอในระบบดิจิตอลสามารถนำเสนอข้อความหรือรูปภาพ (ภาพนิ่ง) หรือภาพเคลื่อนไหวประกอบกับเสียงไปพร้อมกันได้สมบูรณ์มากกว่าองค์ประกอบชนิดอื่น ๆ จึงทำให้เกิดความน่าสนใจในการนำเสนอมากยิ่งขึ้น

6. ปฏิสัมพันธ์ (Interactive)

ปฏิสัมพันธ์ หรือ Interactive คือ การที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบสื่อสารกับโปรแกรมมัลติมีเดียได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกดูข้อมูลที่สนใจหรือสั่งงานให้โปรแกรมแสดงผลในรูปแบบที่ต้องการด้วยการสื่อสารผ่านอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น การคลิกเมาส์ การกดแป้นพิมพ์ หรืออุปกรณ์ขั้นสูง เช่น การสัมผัสหน้าจอ หรือเสียงผ่านลำโพง เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบข้อนี้นับเป็นคุณลักษณะสำคัญที่มีอยู่เฉพาะในมัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ค่ะ

 

Multimedia Content แบบนี้! สื่อเนื้อหาได้ดี

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับองค์ประกอบของมัลตีมีเดียกันไปแล้ว ก็ได้เวลามาดูกันแล้วค่ะว่า Multimedia Content ในปัจจุบันที่มีการนำมาใช้ทำสื่อการเรียนใน e-learning ซึ่งช่วยถ่ายทอดเนื้อหาแทนผู้สอนได้ดีและช่วยดึงความสนใจจากผู้เรียนให้รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนจอได้ มีรูปแบบหลากหลาย ดังนี้ค่ะ

 

Motion Content

เป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาด้วยการเปลี่ยนข้อมูลที่เยอะ เข้าใจยาก เป็นการเล่าให้จบด้วยคลิปวิดีโอเเบบ Motion Infographic เพียงคลิปเดียว แต่สามารถเล่าเรื่องราวให้สนุก ไม่น่าเบื่อได้ นับว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะกับเนื้อหาที่ต้องการภาพในการอธิบายหรือเนื้อหาที่เข้าใจยาก

 

VDO Content

เป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะกับทุกรูปแบบการเรียนรู้ โดยวิดีโอที่เราจะพูดถึงนี้ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.) วิดีโอที่ให้อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้อธิบาย เนื้อหาหรือเล่าขั้นตอนกระบวนการที่ยากด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ทำให้สามารถอธิบายกระบวนการยาก ๆ ได้ดีกว่าวิดีโอที่อัดมาเพื่อบรรยายให้ฟังเพียงอย่างเดียว
2.) วิดีโออธิบายภาพประกอบเนื้อหา ซึ่งเป็นวิดีโอที่ถ่ายทำขึ้นตามสคริปท์หรือเนื้อหาในเฉพาะบางเรื่อง เพื่อนำมาช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพเพิ่มเติมจากการบรรยายของผู้สอน จึงทำให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

Infographic Content

เป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ใช้ “ภาพ” ในการเล่าเรื่องหรืออธิบายข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของกราฟ แผนภูมิ แผนผัง สัญลักษณ์ โดยข้อมูลจะถูกย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ทั้งยังมีการออกแบบสี รูปแบบ ลูกเล่นให้สวยงามดึงดูดผู้เรียนให้ติดตามเนื้อหาในบทเรียนมากยิ่งขึ้น

 

Interactive Content

เป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ให้ผู้เรียนสามารถเรียนพร้อมโต้ตอบได้ทันที ทั้งยังสามารถเช็กความเข้าใจของผู้เรียนด้วยการทำ Test หลังบทเรียนได้ เหมาะกับบทเรียนที่มีเนื้อหาเข้าใจยาก และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการตรวจสอบ หรือเป็นเนื้อหาที่น่าเบื่อจึงต้องมีกิจกรรมกระตุ้นความสนใจ เช่น เกม หรือ วิดีโอประกอบการสอนแบบ Interaction เป็นต้น

ตัวอย่างที่เคยทำ

 

Live Stream

เป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่เปิดให้ผู้สอนและผู้เรียนพบกันแบบ Real time โดยทั้ง 2 ฝ่าย สามารถโต้ตอบกันผ่าน Chat ได้ เมื่อผู้เรียนต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ผู้สอนสามารถอธิบายขยายความเนื้อหาหรือคำตอบได้มากขึ้นกว่ารูปแบบการอธิบายที่จัดทำไว้ในเนื้อหาหรือการเฉลยคำตอบที่สร้างไว้ในระบบ

 

หลัก 3 ประการ ห้ามพลาด…ทำสื่อการเรียนแบบ Multimedia Content

อย่างที่เน้นย้ำกันไปตั้งแต่ต้นว่า คุณภาพของการเรียน e-learning เกิดจากสิ่งสำคัญ คือ เนื้อหา ที่ผู้สอนได้จัดรวบรวมไว้เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาและค้นคว้าด้วยตนเองผ่านสื่อการเรียนในรูปแบบ Multimedia Content  ดังนั้น การออกแบบเนื้อหาและสื่อการเรียนในลักษณะ Multimedia Content จึงควรยึดหลักสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้ค่ะ

  1. เนื้อหาและสื่อการเรียน ต้องชัดเจน สมบูรณ์ จบในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้สอนให้มาอธิบายอีก
  2. เนื้อหาและสื่อการเรียน ต้องออกแบบให้ผู้เรียนสามารถวัดความรู้ความเข้าใจของตนเองได้เป็นระยะและประเมินความเข้าใจของตัวเองในภาพรวมได้
  3. เนื้อหาและสื่อการเรียน ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนและทำงานได้ดีในระบบนำส่งสารสนเทศ

 

แม้เราจะทำสื่อการเรียนได้ดีแค่ไหน แต่ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนทำ e-learning จะต้องครอบคลุมถึงการจัดการให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสามารถเรียกดูเนื้อหาในลักษณะ Multimedia Content ได้ครบถ้วนด้วยความเร็วพอสมควรนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เนื้อหาที่เรานำเสนอเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างสมบูรณ์ที่สุดนั่นเองค่ะ



Related Articles

See All Post
Loading