เมื่อเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำเนินชีวิต และการทำงานในแต่ละวันของเราไปแล้ว การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะช่วยให้เราสามารถปรับตัว และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้าน ทั้งประโยชน์ในการดำเนินชิวิตประจำวัน การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ และจะทำให้เราไม่ตกเทรนด์ค่ะ หลาย ๆ บริษัท ได้นำเครื่องมือ…
คนที่อยู่แวดวงไอที หรือคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ คงจะคุ้นเคยกับคำว่า “AI” กันเป็นอย่างดี เพราะ AI คือ เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากมายในปัจจุบันในแง่ของความชาญฉลาดที่สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับมนุษย์เรา และ AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่ติดอันดับ 1 ของการจัดอันดับเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าสนใจในปี 2023 อีกด้วย!
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการนำเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ในหลายสาขาธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเทรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น แชทบอทที่เข้าใจบทสนทนา สามารถถาม-ตอบได้หลากหลายอย่าง ChatGPT การสร้างภาพโดยใช้คีย์เวิร์ดแบบ Midjourney และอีกหลายแอพพลิเคชั่นที่นำ “AI” มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม เช่น Adobe, Canva และ Notion เป็นต้น
อีกทั้งแนวโน้มของ AI ในอนาคต จะมีการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น ประกอบกับการที่ข้อจำกัดในด้านฮาร์ดแวร์ลดลง บวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ทำให้การพัฒนา AI ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นนั้น จะทำให้ AI ยิ่งเป็นที่นิยมและเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การที่เรามารู้จัก AI คือ อะไร? และสามารถนำ AI ไปปรับใช้งานในด้านใดได้บ้าง? ก็จะทำให้เราก้าวทันเทคโนโลยียุคใหม่ และถ้าหากใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ก็สามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้ไม่ยากด้วยความอัจฉริยะของ AI นั่นเอง
AI คือ อะไร ?
AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ AI คือ อัลกอริทึมและเทคโนโลยีที่ที่ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการทำงานใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการคิด การเรียนรู้ การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหา โดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) และอัลกอริทึมต่างๆ
พื้นฐานการสร้าง AI
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราพามาดูกันว่าเทคโนโลยี AI ที่ว่านี้ มีขั้นตอนเบื้องต้นในการสร้างขึ้นมาใช้งานอย่างไร? เราจะต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้ AI สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การใช้งานของเราได้อย่างแท้จริง
1. การกำหนดขอบเขตการสร้าง AI (Define the scope)
ขั้นตอนแรกในการสร้าง AI คือ การระบุถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไข เช่น เจ้าหน้าที่ตอบข้อความลูกค้าล่าช้ากว่าที่กำหนด จนส่งผลกระทบต่อยอดขาย ดังนั้น ขอบเขตของการสร้าง AI คือ การพัฒนา AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
2. การเก็บรวบรวม และทำความสะอาดข้อมูล (Gather and preprocess data)
ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสร้าง AI ยิ่งข้อมูลมีจำนวนมากและหลากหลาย ก็ยิ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของ AI
โดยขั้นตอนนี้เราจะต้องรวบรวมและทำความสะอาดข้อมูลที่ใช้สำหรับการสอนคอมพิวเตอร์ให้รู้และจำในสิ่งที่เราต้องการ เช่น หากเราต้องการพัฒนา AI Chatbot (ตามข้อ 1 ข้างต้น) ข้อมูลที่เราต้องเตรียม คือ ตัวอย่างข้อความที่ลูกค้าใช้สอบถามเรา เช่น “ขอสอบถามรายละเอียดข้อมูลโปรดักส์ A หน่อยครับ” “ของชิ้นนี้่ราคาเท่าไหร่” “เสื้อสีฟ้ามีสต๊อกไหม” และตัวอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการทำความสะอาดข้อมูล คือการเตรียมข้อมูลและข้อความที่ถูกต้อง โดยจะต้องลบสัญลักษณ์พิเศษในข้อความออก หรือลบพยัญชนะและสระที่เกิดการซ้ำซ้อนกัน เช่น สวัสดีจ้าาาาา เท่าไหร่ครับบบ เพื่อไม่ให้เกิดการสับสน
3. เลือกสถาปัตยกรรมโมเดล (Design the model architecture)
นอกจากข้อมูลที่ใช้สำหรับสอน AI เราจำเป็นต้องใช้โครงสร้างสถาปัตกรรมโมเดล (Neural network architecture) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือแบบจำลองโครงสร้างประสาทของสมองนั่นเอง
เนื่องจากสถาปัตยกรรมโมเดลแต่ละประเภทมีความเก่งและถนัดแตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานที่เราต้องการ เช่น สถาปัตยกรรมโมเดลแบบ Convolutional neural network (CNN) เหมาะกับงานด้านการประมวลผลภาพ (image processing) หรือ Transformer เหมาะกับงานด้านประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing) ซึ่งถ้าเราต้องการพัฒนา AI Chatbot เราจึงต้องเลือก Transformer model architecture
4. การเรียนรู้และการฝึกสอน (Train the model)
เราจะนำข้อมูลที่ได้เตรียมไว้ มาใช้ในการเรียนรู้และฝึกสอนคอมพิวเตอร์ ผ่านสถาปัตยกรรมโมเดล (Model architecture) ที่เราได้เลือกไว้ จนสุดท้ายจะได้ออกมาเป็นแบบจำลองโมเดลทางคณิตศาสตร์ (Model) ซึ่งเราจะนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันในลำดับถัดไป โดยก่อนกระบวนการเรียนรู้และฝึกสอน เราจะแบ่งข้อมูลที่จะใช้สอนออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
- ข้อมูลสำหรับใช้สอน (Training data)
- ข้อมูลสำหรับใช้ตรวจสอบขณะสอน (Validation data) และ
- ข้อมูลสำหรับใช้ทดสอบ (Testing data)
ขณะกระบวนการเรียนรู้และฝึกสอน เราจะใช้ training data เพื่อสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้อัตลักษณ์ (feature) ของข้อมูล และจดจำผลเฉลยของข้อมูลนั้นๆ ซึ่งเราจะแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นรอบๆ โดยแต่ละรอบจะใช้ Validation data ที่เราได้เตรียมไว้มาทดสอบประสิทธิภาพของโมเดลรอบนั้นๆ จนครบจำนวนรอบที่กำหนด เราก็จะได้ AI โมเดลที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยอ้างอิงจาก Validation data แล้วค่ะ
5. ประเมินประสิทธิภาพ (Model Evaluation)
หลังจากกระบวนการเรียนรู้และฝึกสอนโมเดลสิ้นสุดลงแล้ว เราจะทำข้อมูลสำหรับใช้สำหรับทดสอบ (Testing data) มาวัดประสิทธิภาพโมเดลอีกครั้ง เพื่อเป็นการ Cross check อีกครั้งว่าโมเดลที่ได้มาไม่ได้ Overfit กับ Validation data จนเกินไป แต่ถ้าโมเดลที่ได้ยังมีประสิทธิภาพไม่มากพอ เราจำเป็นต้องกลับไปปรับปรุงข้อมูลที่ใช้สอนโดยการเพิ่มจำนวนข้อมูลให้มากขึ้น หรือทำความสะอาดข้อมูลให้ดีขึ้น หรือแก้ไขพารามิเตอร์ต่างๆ (Hyper parameters) ที่ใช้สอน และเริ่มกระบวนการสอนใหม่อีกครั้ง
6. การเรียกใช้ AI (Deploy the model)
หลังจากเราได้โมเดลที่มีประสิทธิภาพที่พอใจแล้ว เราจำเป็นต้องพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเรียกใช้ AI โมเดล และ interact ข้อมูลกับผู้ใช้งาน เราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวได้โดยใช้ไลบรารี่ (Libraries) PyTorch, TensorFlow, Keras, MXNet, หรือ Theno ซึ่งไลบรารีเหล่านั้นมีชุดเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
ตัวอย่างการนำ AI ไปใช้งานจริง
ด้วยความฉลาดของเทคโนโลยี AI จึงทำให้หลายๆ องค์กรทั่วโลกนำ AI มาปรับใช้ วันนี้เรานำตัวอย่างไอเดียการใช้ AI มาฝากกันค่ะ
1) งานด้านอุตสาหกรรม
AI กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ ระบบการผลิตอัตโนมัติ ระบบการบริหารจัดการสายงานอัตโนมัติ การจัดการโลจิสติกส์ การทำงานในสายอาชีพที่ต้องการการวิเคราะห์และตัดสินใจ เช่น การทำงานของหุ่นยนต์ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าบนสายพานการผลิตต่างๆ
2) การแพทย์และดูแลสุขภาพ
AI เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการช่วยในการวินิจฉัยโรค และให้คำแนะนำในการรักษาทางการแพทย์ โดยใช้การวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ เช่น การจำแนกและวิเคราะห์ภาพ X-ray หรือ CT scan เพื่อช่วยในการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย รวมถึงแอปพลิเคชันสุขภาพที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์สุขภาพและให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง
3) งานธุรกิจและการบริการ
AI มีบทบาทสำคัญในงานด้านการบริการลูกค้า เราจะเห็นว่ามีการนำระบบแชทบอท (Chatbot) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้ เพื่อช่วยให้การบริการมีคุณภาพที่ดีขึ้น และสามารถตอบสนองกับลูกค้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ AI ยังมีความอัจฉริยะในการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ การวิเคราะห์โพรไฟล์ (Profile) ของลูกค้า หรือทำนายแนวโน้มของตลาดและช่วยในการวางแผนการตลาดได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย
4) ด้านรถยนต์ และยานยนต์
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ AI มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนารถยนต์อัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะที่ใช้บนรถยนต์ อย่าง Tesla ที่สามารถรับรู้ข้อมูลสภาพแวดล้อม เส้นทาง และประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ที่ทำงานร่วมกับระบบประมวลผลอัจฉริยะ เพื่อทำความเข้าใจและสามารขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
5) ด้านสิ่งแวดล้อม
AI มีศักยภาพในการช่วยลดการใช้พลังงานและการประหยัดพลังงานในการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม เช่น การใช้ AI ในระบบสัญญาณไฟจราจร เพื่อควบคุมการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการใช้ AI ในการประเมินและจัดการการใช้งานพลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น
6) ด้านความปลอดภัยและความเสี่ยง
AI ถูกนำเข้ามาใช้ในการป้องกันและตรวจจับความเสี่ยงและความปลอดภัยในหลายด้าน เช่น การตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงใช้ในการจำกัดการเข้าออกเพื่อที่โดยการใช้การจดจำใบหน้า (Face Recognition) หรือการจดจำป้ายทะเบียนรถ (License Plate Recognition)
7) ด้านงานศิลปะ และการสร้างสรรค์
AI ถูกนำมาใช้ในงานสร้างสรรค์ศิลปะ และการออกแบบหลายๆ ด้าน เช่น การเขียนเพลง โดยใช้ระบบและแอลกอริทึมที่เรียนรู้จากข้อมูลเก่า และสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ หรือการสร้างรูปภาพตามคำสั่งคีย์เวิร์ดของมนุษย์ ที่สามารถสร้างผลงานรูปภาพที่สวยงาม และเหมือนจริงได้อีกด้วย
8) การทำนาย และการตัดสินใจ
AI จะใช้ข้อมูลที่สะสมมากมายเพื่อวิเคราะห์และทำนายแนวโน้ม เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ การวางแผนการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารความเสี่ยง
9) การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล(Personalization marketing)
เป็นการพัฒนา AI ที่สามารถทำความเข้าใจและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ ซึ่ง AI จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรม รูปแบบการพูดคุย และความชอบของผู้ใช้จากข้อมูลก่อนๆ ของผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ AI สามารถให้บริการและแสดงข้อมูลแตกต่างตามบุคคล เช่น AI ที่สามารถให้คำแนะนำการช้อปปิ้งส่วนตัว การแสดงโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้งานช่วงนั้นๆ การแนะนำภาพยนตร์ที่เข้ากับรสนิยม
10) การดูแลสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ
AI สามารถตรวจสอบสถานะสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลการตรวจสุขภาพ และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ AI ยังสามารถให้การสนับสนุนและการดูแลผู้สูงอายุเสมือนเป็นผู้ช่วยส่วนบุคคล การเฝ้าระวังผู้สูงอายุ และสามารถแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งการแจ้งเตือนให้เราทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้อีกด้วย
จะเห็นว่าเราสามารถนำเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ได้เพื่อช่วยงานในด้านต่างๆ ได้อย่างหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และข้อมูลที่เรามีค่ะ
Clicknext ของเรา สามารถให้คำแนะนำและพัฒนาระบบ AI โดยทีมพัฒนาที่มีประสบการณ์ด้านการทำ AI มากกว่า 10 ปี เพื่อพัฒนาระบบ AI ให้ตอบโจทย์ในหลากหลายธุรกิจ และในหลายด้านของ AI ไม่ว่าจะเป็น AI Chatbot ที่พัฒนาโดยใช้ NLP (Natural Language Processing), ระบบวิเคราะห์ภาพเพื่อนำไปใช้งานด้านต่างๆ, ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวโน้ม หรือความสำคัญจากข้อมูลธุรกิจของคุณ, และระบบแปลงเสียงเป็นเป็นข้อความหรือแปลงข้อความเป็นเสียง เป็นต้น